‘จีน’ ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจในภาคการผลิตโลกอย่างรวดเร็ว โดยได้ขยายในวงกว้างทั้งกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงาน และกลุ่มสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้เศรษฐกิจของ ‘สหรัฐอเมริกา’ จะมีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่สำหรับภาคการผลิต กลับพบว่ามีขนาดที่เล็กกว่าจีนมากกว่าครึ่ง
นับตั้งแต่ปี 2001 ที่ประเทศจีนเข้าร่วมองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) ทำให้ปัจจุบัน จีนก้าวขึ้นมาเป็น ‘โรงงานโลก’ โดยวัดได้จากจำนวนการผลิต (Gross Production) ที่มีสัดส่วน 35% ของโลก และมูลค่าเพิ่มการผลิต (Value Added) ที่ 29% ของสัดส่วนโลก ทำให้จีนมีภาคการผลิตมีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ‘KKP Research’ ประเมินว่า นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัจจัยในหลายด้านเร่งให้สินค้าจากจีนสามารถเข้ามาในไทยได้เร็วมากขึ้น โดยสามารถแบ่งออกเป็น ‘2 ปัจจัยผลักจากจีน’ (Push factors) และ ‘4 ปัจจัยดึงจากไทย’ (Pull factors)
2 ปัจจัยผลักจากจีน
- พัฒนาการการเติบโตที่รวดเร็วของแพลตฟอร์ม ‘อีคอมเมิร์ซ’ ในจีน: จีนนับเป็นหนึ่งในประเทศที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยธุรกรรมการซื้อขายอีคอมเมิร์ซในจีนมีขนาดใหญ่กว่า 50% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งโลก นอกจากนี้ จีนยังมีการขยายธุรกิจส่งออกโดยอาศัยอีคอมเมิร์ซข้ามประเทศ (Cross-border e-Commerce) ที่เติบโตขึ้นถึง 15% ในปี 2021
โดย ‘ไทย’ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ มีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงที่มาจากการ ส่งสินค้าข้ามประเทศ ซึ่งมีขนาดประมาณ 23.5% ของมูลค่าองอีคอมเมิร์ซทั้งหมด ในขณะที่ ‘อินโดนีเซีย’ มีสัดส่วนที่น้อยกว่าไทยเล็กน้อยที่ 21.6% จากข้อมูลของ BofA
- เศรษฐกิจภายในประเทศของจีนที่ชะลอตัวจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้จีนหันมาพึ่งพาการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม: หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจจีนมีการชะลอตัวลงอย่างมาก นับตั้งแต่ภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวลง
ทำให้การบริโภคในประเทศ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวแย่ลง รัฐบาลจีนจึงจำเป็นต้องผลักดันภาคการผลิตและการส่งออก ให้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจ โดยใช้กลยุทธ์ในการส่งออกสินค้าคงคลังที่ผลิตเหลือ รวมถึงกำลังการผลิตที่มีเหลืออยู่ในจีนมาไปประเทศต่างๆ ในโลก
4 ปัจจัยดึงจากไทย
- ประเทศไทยมีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการนำเข้าสินค้าจากจีน เช่น การคิดอัตราภาษีจากสินค้าจีนในระดับต่ำ โดยเฉพาะในรถยนต์ EV ที่จีนสามารถส่งออกมาไทยโดย ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า
- การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จีนเป็นผู้นำ โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ EV หลังการพัฒนาแบตเตอรี่ และการผลิตรถยนต์ EV ของจีน ได้ผลักดันให้จีนกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่
- การเกิดขึ้นของอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย นับตั้งแต่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่อยู่ในระดับสูงถึง 88% ส่งผลให้การส่งสินค้าจากจีนเข้ามาไทยในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนมากขึ้น ในขณะที่คนไทยมีความคุ้นเคย และนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ พิจารณาจาก ‘ราคา’ และไม่ยึดติดกับแบรนด์มากนัก
- การให้ฟรีวีซ่ากับนักท่องเที่ยวจากจีน ทำให้ไม่มีการตรวจสอบการเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด เปิดช่องทางให้คนจีนเข้ามาอยู่อาศัยในไทย เพื่อทำการค้าทำธุรกิจในไทยได้โดยง่าย ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของฟรีวีซ่า ที่ควรให้กับนักท่องเที่ยวเท่านั้น
ทั้งนี้ ปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งใน ‘เป้าหมาย’ การส่งออกสินค้าจากจีน และแม้ว่าหลายประเทศจะมีการขาดดุลการค้ากับจีนที่สูงกว่าไทย แต่ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเร่งตัวของการขาดดุลการค้ากับจีนเร็วมากที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งเกิดจากทั้งการนำเข้ามาเพื่อบริโภคในประเทศเอง และการนำเข้าเพื่อส่งออกสินค้าต่อไปยังต่างประเทศ