รู้จัก ซุป’ตาร์ดวงใหม่ ลูกค่างแว่นถิ่นเหนือ ที่มาแป๊บเดียว เพราะคุณแม่รับกลับไปแล้ว

รู้จัก ซุป’ตาร์ดวงใหม่ ลูกค่างแว่นถิ่นเหนือ ที่มาแป๊บเดียว เพราะคุณแม่รับกลับไปแล้วลูกค่างแว่นถิ่นเหนือ – ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบรรดาสัตว์นั้นมีความคิ้วท์ในตัว ทั้งบริสุทธิ์ น่ารัก ชวนให้น่าเอ็นดูไม่น้อย ทำให้หลายๆ ตัวกลายเป็นดาวเด่นที่มีแฟนคลับ ที่เห็นได้ชัดก็อย่าง หมูเด้ง ที่ล่าสุดความฮอตของเธอยังส่งผลให้กิจการเครื่องปั้นโคราชกลับมาต่อลมหายใจได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ภาพของ ลูกค่างแว่นถิ่นเหนือ ก็ได้กลายเป็นไวรัลที่มีคนเข้าไปกดไลค์เอ็นดูจำนวนมาก หลัง เพจ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ได้เผยแพร่ภาพของลูกค่างแว่นถิ่นเหนือ (Trachypithecus phayrei) ที่น่ารักสะกดใจตั้งแต่แรกเห็น

โดยเผยว่า ลูกค่างแว่นฯ ตัวนี้ตกลงมาจากต้นไม้ โดยแม่น้องอยู่บนต้นไม้ ส่วนตัวน้องหล่นลงมา ส่วนความแตกต่างของค่างแว่นถิ่นเหนือกับถิ่นใต้คือ “ค่างแว่นถิ่นเหนือใส่แว่นสีเทา/เงิน แต่ค่างแว่นถิ่นใต้ใส่แว่นสีขาวชัดเจนกว่ามากค่ะ”

ทั้งนี้ ยังมีผู้เข้าไปบอกว่า “โพสต์ลงรูปน้องบ่อยๆ นะครับอยากให้น้องดังเหมือนหมูเด้ง น้องน่ารักมาก” ซึ่งแอดมินเพจก็ได้ตอบกลับว่า “แม่น้องเอาไปแล้วค่ะ 5555”

ขณะเดียวกันก็ได้มีผู้เข้าไปแสดงความเห็นจำนวนมาก เช่นว่า เหมือนตุ๊กตาเลยอ่ะ ตาแป๋วมาก, หงอคงแม่ทำหล่นเหรอลูก เจ็บมากมั้ยนั่น, ยังกะเทเลทับบี้, ก่อนไปถึงชมพูทวีป, เห้งเจีย

ทั้งนี้ ทางเพจยังระบุข้อมูลไว้อีกว่า ค่างแว่นถิ่นเหนือมีสีเทาเข้มอมน้ำเงิน บริเวณหน้าท้องมีสีน้ำตาลอ่อน ตัวเมียใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย ตัวผู้หนัก 7.4 กิโลกรัม มีความยาว 1.07-1.1 เมตร ส่วนตัวเมียหนักเฉลี่ย 6.2 กิโลเมตร ยาว 1.15-1.3 เมตร หางยาว 65-86 เซนติเมตร หรือราว 68 เปอร์เซ็นต์ของความยาวหัว-หาง เพศของตัวผู้และตัวเมียแยกได้จากวงขาวที่ตา ตัวผู้มีวงตาขนานกับข้างจมูก จึงมีแนวสีดำกว้างสม่ำเสมอ ในตัวเมียวงตาสีขาวลู่เข้าหาจมูก จึงดูเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยม แขนขาท่อนบนและโคนหางสีเทาอ่อน หัวและหางสีเข้ม รอบริมฝีปากและตาสีขาว ค่างผู้ใหญ่มีขนบนกระหม่อมยาว ลูกค่างสีส้มสดใส สีของลูกค่างจะเริ่มเปลี่ยนเมื่ออายุได้ 3 เดือน

พบในป่าหลายประเภท ชอบอยู่ตามป่าดิบผสมกับป่าเบญจพรรณ ทั้งป่าดั้งเดิมและป่าชั้นสองในป่าดิบ ค่างแว่นถิ่นเหนือพบได้ทั้งบนต้นไม้ที่ระดับสูงถึง 15-50 เมตรเหนือพื้นดิน บางครั้งก็พบในป่าไผ่ด้วย

ค่างแว่นถิ่นเหนือมีนิสัยขี้อาย และเมื่อถูกคุกคามก็มักจะหนี ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเรือนยอดของป่า ไม่ยอมลงสู่พื้นหากไม่จำเป็น เป็นสัตว์หวงถิ่น และจะปกป้องอาณาเขตจากค่างแว่นถิ่นเหนือต่างฝูงอย่างแข็งขัน แต่อาจยอมหากินร่วมพื้นที่กับค่างต่างชนิดได้.

Related Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *